วิธีปลูกกล้วยไม้ ไม่ให้ใกล้ม้วย

กล้วยไม้ หรือ ใกล้ม้วย   (บทความโดย อาจารย์ ว.บุญยืน)

                เริ่มเกิดอุทกภัยน้ำท่วมหลายๆจังหวัดจากทางภาคเหนือลงมาเรื่อยๆ  จนถึงเดือนตุลาคม ปี 2554  ต้นเดือนน้ำก็เริ่มเข้าโจมตีดินแดนที่มีการปลูกกล้วยไม้จังหวัดนครปฐม  และ เขตกรุงเทพมหานคร  ย่านฝั่งธนบุรี  ทำลายสวนกล้วยไม้นับร้อยสวน  ต้นกล้วยไม้นับล้านๆต้น “GONE WITH THE WATER”  เป็นเหตุให้ผู้เขียนจำต้องอพยพตัวเอง และครอบครัวออกจากบ้านย่านบางแค เพชรเกษม82  น้ำท่วมประมาณ 1 เมตรกว่าๆ  ต้องเก็บสัมภาระจำเป็น  ขับรถขึ้นมานอนพักที่สูงๆ  ผมตัดสินใจมานอนพักที่เขื่อนศรีนครินทร์  กาญจนบุรี  ทางเขื่อนก็ใจดีมากๆ ลดราคาที่พักให้พวกผู้อพยพ 80% ลดมากจริงๆ ต้องขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขื่อนทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย  จึงเป็นที่มาของการได้มีเวลาว่างเขียนเรื่องกล้วยไม้  ก็ตั้งใจจะหาเวลาเขียนมานานแล้ว แต่หามีเวลาไม่  ตอนนี้ว่างมากๆ ก็จะขอใช้ความรู้และ ประสบการณ์ทางการปลูกเลี้ยงมาเล่าสู่กันฟัง

               

                สวัสดี เพื่อนๆ ที่รักกล้วยไม้ทุกท่านที่กำลังอ่าน

                คนส่วนมาก 80-90 % เมื่อเห็นกล้วยไม้สวยๆก็ชอบ  และก็ซื้อกลับบ้านมาดูดอก  ไม่นานดอกก็หมดไปเหลือแต่ใบไว้ให้ดูเล่น  เรียกว่าพันธุ์ดูใบ (ดูไบ) ไม่ว่าจะให้ดอกอีกเมื่อไหร่  และส่วนมากก็ไม่รู้วิธีดูแลรักษา  ปล่อยตามยถากรรม  เรียกว่า ฝากเทวดาเลี้ยงให้  บางคนก็สนใจหน่อย  จะคอยถามคนขายว่าดูแลอย่างไร   คนขายบางทีก็บอกไปงั้น งั้น ถูกๆ ผิดๆ บ้าง  สุดท้ายก็เลิกไปเอง เพราะเมื่อเลี้ยงแล้วไม่ได้ดี

วิธีเลี้ยงกล้วยไม้กว้างๆ และ ง่ายๆ มีดังนี้

1. ที่ตั้ง (Location)  ต้องไว้ในที่มีแสงแดดพอสมควร  ประมาณว่าได้แสงแดดทั้งวัน  หรือมากกว่าครึ่งวัน  แต่ต้องไม่ถูกแสงตรงๆ  หรือว่ากลางแดด  ต้องมีการพรางแสงให้แสงลงมาที่ต้นกล้วยไม้ประมาณ 40-60%  เอาเป็นว่า  ตามใต้ต้นไม้ที่มีใบไม่ทึบจนเกินไป  หรือว่าจะให้ดีก็ทำหลังคาเป็นซาแลนดำที่พรางแสง 50-60% ก็เป็นพอ  ต้นกล้วยไม้จะเติบโตได้ดีในที่ที่มีลมผ่านสะดวก

2. ที่กิน  ต้นกล้วยไม้ต้องกิน  

ท่านคิดว่าเขาจะกินอะไรล่ะครับ  1.)เขากินอากาศ – ลม !!  2.) เขากินน้ำ – หรือ ความชื้นในอากาศ  3.) ต้นกล้วยไม้กินปุ๋ย

3. บ้านของกล้วยไม้  บ้านก็คือกระถาง หรือขอนไม้ที่ใช้เกาะอาศัยของกล้วยไม้  ต้องคิดให้ดีว่าจะใช้วัสดุอะไรมาทำบ้านสำหรับกล้วยไม้ของท่าน  ผมหมายถึงเครื่องปลูกนะครับ  ซึ่งก็สำคัญมากๆเหมือนกัน  เพราะถ้าหาบ้านไม่ถูกใจ  ต้นกล้วยไม้เขาก็จะไม่โต  หรือว่าโตช้า  ถ้าบ้านเก่าเกินไปหรือผุพัง  เขาก็จะหยุดชะงัก  ต้องเปลี่ยนบ้านให้เขาเป็นการด่วน

4. ยารักษาโรค  ถ้ารักจะปลูกกล้วยไม้  ก็ต้องดูแลเขาให้ปลอดจากโรค  ต้องป้องกันเขาจึงจะงามดี

สาเหตุของโรค มี 2 อย่างใหญ่ๆ คือ

4.1  โรคจากแมลง

4.2  โรคจากเชื้อราและแบคทีเรีย  ไวรัส

พูดไปพูดมา ก็ชักจะคล้ายๆกับมนุษย์เราเข้าไปทุกทีนะ

 ต่อไปจะค่อยๆอธิบายแบบภาษาบ้านๆ ถึงปัจจัย 4 สำหรับการดูแลต้นไม้

ต้นกล้วยไม้กับปัจจัย4

 

1.โรงเรือน (บ้าน ที่อยู่อาศัย) ที่ตั้ง ที่จะเอาเขาไปไว้

2.เครื่องนุ่งห่ม  น่าจะเป็นเครื่องปลูก

3.อาหาร น้ำ , อากาศ(ลม), ปุ๋ย

4.ยารักษาโรค  ยากำจัดแมลงศัตรู และ โรคพืช

ขยายความแต่ละปัจจัย

1.โรงเรือน (Location)  สถานที่ที่จะนำต้นกล้วยไม้ไปไว้ 

สำหรับมือสมัครเล่นที่มีต้นกล้วยไม้ไม่กี่ต้น  สามารถแขวนไว้ตามชายบ้านหรือโรงรถ  ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ในสนามหน้าบ้าน   ที่สำคัญคือ ต้องให้ได้แสงแดดพอสมควร  มีการถ่ายเทของอากาศดี   จากการเลี้ยงแบบมือสมัครเล่นก็อาจจะพัฒนามาเป็นงานอดิเรก  เพราะพอชอบ และ พอเลี้ยงได้ก็จะซื้อมาสะสมเพิ่มขึ้น  อาจจะมีเป็น 10 จนถึง 100  ต้น   ตอนนี้ก็จำเป็นต้องหาที่อยู่ให้เป็นโรงเรือน  ก็ควรจะนำซาแลนมากางให้  โดยใช้ซาแลนที่พรางแสง 50-60%  และทำราวแขวนเป็นพอ  เวลาแขวนก็ควรเว้นช่องไฟบ้าง  ให้อากาศผ่านได้สะดวก

2. เครื่องนุ่งห่มของกล้วยไม้   น่าจะหมายถึงเครื่องปลูก

ก่อนอื่น ต้องขอแยกกล้วยไม้เป็นกลุ่มๆก่อน 

2.1 กลุ่มที่มีรากเล็ก  เช่น สกุลหวาย , แคทลียา , ออนซิเดียม , แกรมมาโตไฟลั่ม  ท่านสามารถเลือกเครื่องปลูกที่เป็นกาบมะพร้าว , ถ่าน หรือ อิฐหัก , หรือเอาไปเกาะกับขอนไม้ก็ได้

2.2 กลุ่มที่มีรากโต  เช่น สกุลแวนด้า , แอสโค , มอคคาร่า ,อแรนด้า , รีแนนเธอร่า , อแรกนิส , ช้าง ,  เขาแกะ  , ไอยเรศ , กุหลาบ กลุ่มนี้ก็สามารถปลูกในกระถางดินเผา  หรือ กระเช้าไม้สัก  จะใส่ถ่านก้อนโตๆ  ลงไปบ้างก็ได้ หรือจะไม่ใสอะไรเลยก็ได้  จะเอาไปเกาะกับขอนไม้ หรือ ติดกับเสาก็ได้

2.3 กลุ่มไม้ดิน  เช่น สปาโตกอสติส ,  เอื้องพร้าว  สามารถใช้มะพร้าวสับ ผสมกับดินขุยไผ่  หรือจะใช้มะพร้าวสับล้วนๆก็ได้

 

3. อาหาร  ต้นกล้วยไม้ ก็ต้องการอาหารเหมือนสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

อาหารที่นับว่าสำคัญที่สุด  ก็คือ น้ำสะอาด  ต้องรดน้ำทุกวัน  ดีที่สุดในเวลาเช้า 6-8 โมงเช้า  เพราะต้นไม้จะได้สังเคราะห์แสง นำอาหารไปใช้ได้  วันไหนอากาศแห้งมากๆ  อาจจะแถมตอน 4-5 โมงเย็นก็ได้  ถ้ามีฝนตกก็งดน้ำไปได้เลย 

ที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปุ๋ย  สำหรับกล้วยไม้  สามารถเลือกซื้อปุ๋ยกล้วยไม้ได้  ตามร้านขายเคมีเกษตรทั่วไป  จะมีปุ๋ยเกล็ดและ ปุ๋ยน้ำ  

วิธีใช้ปุ๋ย  สำหรับต้นกล้วยไม้  ก็มีดังนี้ :-

ใช้ปุ๋ยสูตร  N-P-K            20-20-20

สลับกับสูตร  N-P-K         10-20-30

โดยใช้ผสมน้ำฉีดต้นไม้ให้ทั่วๆ  ทั้งราก  ต้นและใบ (ใต้ใบด้วย)  ฉีดในเวลาเช้าเท่านั้น  7-8 โมงเช้า  ในวันที่มีอากาศแจ่มใส แดดดี  ไม่ควรฉีดปุ๋ยในวันที่มีเมฆมาก ฟ้าครึ้ม 

ระยะเวลาฉีด ก็ทุกๆ 7 วัน  ก็ได้  อัตราส่วนการผสมก็ให้อ่านเอาตามฉลากที่บอกไว้ในปุ๋ยแต่ละชนิด  เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ต้นไม้ของท่านงดงาม  และให้ดอกได้ตลอดไป

4. ยารักษาโรค  กล้วยไม้ก็จะมีโรครบกวนเหมือนกัน  จำแนกใหญ่ๆได้เป็นสอง

4.1 โรคที่เกิดจากแมลง โรคแมลงทั่วไป  ก็มีโรคเพลี้ยไฟ กินดอก  พวกมดและเพลี้ยแป้ง  , หนอน และ ตั๊กแตน  บางทีก็มีพวกนกและกระรอกมารบกวนบ้าง

ยาฆ่าแมลงก็ขอแนะนำพวก  สารไซเพอร์เมททริน  และ เซพวิน 85  สามารถฉีดทุกๆ 10-15 วัน  เป็นการป้องกัน  หรือกรณีที่ถูกโจมตีรุนแรง  ก็ฉีดทุกๆ 5-7 วัน

ข้อควรระวัง  ยาฆ่าแมลงเป็นสารอันตราย  ต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง  หลังฉีดก็ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด  แต่จริงๆแล้ว  ถ้าปลูกในบ้านก็ไม่ควรใช้เลย  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

 

4.2  โรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย  ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน  ที่ความชื้นสูงๆ 

ท่านสามารถฉีดสารแคปเทน (ออโธ่ไซต์)  และ  สารแมนโครเซบได้ 

ในฤดูแล้ง  หนาว และ ร้อน  ฉีดทุกๆ 15 วัน , หน้าฝน ฉีดทุกๆ 7 วัน

ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส  ไม่ต้องรักษา  โยนทิ้งอย่างเดียว  เพราะไม่มียารักษา

สรุป:-

ถ้าท่านสามารถปฏิบัติตามที่ผู้เขียนได้เล่าชี้แจงแถลงไข    

ท่านก็จะสามารถปลูกกล้วยไม้ได้อย่างสนุก  และมีความสุขมาก

ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาอ่านจนจบ

ว.บุญยืน  

               

Visitors: 805,430